“ ไมโครชิพ ” หมายเลขประจำตัวสัตว์เลี้ยงชนิดถาวร

logo

         ไมโครชิพ (Microchip) เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็ก บรรจุอยู่ในครอบแก้วที่ผ่านการพิสูจน์จนเชื่อมั่นว่าจะไม่ทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของร่างกายสัตว์ หมายเลขภายในไมโครชิพจะถูกกำหนดไว้แล้วจากโรงงานผู้ผลิต เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหมายเลขนั้นๆ ได้ และการอ่านหมายเลขก็ต้องใช้เครื่องอ่านไมโครชิพ (Microchip Reader) เป็นตัวแสดงผล สำหรับการติดตั้งไมโครชิพทำได้โดยใช้เข็มที่บรรจุไมโครชิพอยู่ภายในและถูกทำให้ปลอดเชื้อแล้ว ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณหลังของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น

         ไมโครชิพสามารถอยู่ในร่างกายสัตว์ได้นาน เช่น ในสุนัขเราฉีดไมโครชิพครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตสัตว์ โดยไม่ทำปฏิกิริยากับร่างกายแต่อย่างใด เราสามารถใช้ไมโครชิพในสัตว์ทุกประเภทตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น หนูทดลอง ปลา กิ้งก่า จนกระทั่งสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่น ช้าง ในการติดไมโครชิพไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวสัตว์ โดยไม่มีข้อห้ามใดๆหลังจากฉีด และมีอันตรายน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการทำเครื่องหมายอื่นๆ การฉีดไมโครชิพใช้เวลาน้อยมาก (ไม่ถึง 1 นาที) ท่านสามารถรับบริการนี้ได้จากคลินิคสัตว์แพทย์ และโรงพยาบาลสัตว์ที่เป็นศูนย์ติดตั้งไมโครชิพของเรา ได้จากป้ายที่มีข้อความ “ศูนย์ติดตั้งไมโครชิพ บัตรประจำตัวสัตว์อิเล็กทรอนิกส์”

เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับการฉีดไมโครชิพแล้ว จะต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลของสัตว์นั้นๆไว้ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้น โดยข้อมูลที่จัดเก็บแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. ข้อมูลของตัวสัตว์ อาทิ เป็นสัตว์ชนิดใด (สุนัข, แมว,นก เป็นต้น) ชื่อ เพศ พันธุ์ อายุ สี ตำหนิ หมายเลขที่เคยขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานอื่น เช่น สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขฯ
  2. ข้อมูลของเจ้าของสัตว์ คือ ชื่อ สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อได้ และหมายเลขโทรศัพท์
  3. ข้อมูลของหน่วยงานที่ฉีดไมโครชิพ อาจเป็นหน่วยราชการ หรือสถานพยาบาลสัตว์ที่เป็นศูนย์ติดตั้งไมโครชิพของเรา

 

         สิ่งสำคัญที่เราควรต้องรู้เกี่ยวกับไมโครชิพก็คือ รหัสและหมายเลขของไมโครชิพ ซึ่งในปัจจุบันมีด้วยกันทั้งหมด 15 หลัก และเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 11784/11785 หมายเลขแต่ละหลักนั้นมีความสำคัญที่เราเองควรจะรับรู้เอาไว้ด้วยเช่นกัน

         กล่าวคือไมโครชิพระบบ ISO จะมีตัวเลขทั้งหมด 15 หลัก โดย 3 หลักแรก จะระบุถึงประเทศ หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของ ซึ่งรหัสของประเทศไทยคือ 764 และแต่ละประเทศก็จะใช้รหัสไม่เหมือนกัน แต่ในขณะนี้เรายังไม่ได้ใช้ตามรหัสที่ระบุ เนื่องจากเรายังไม่มีหน่วยงานราชการใดที่รับผิดชอบ และสามารถออกหมายเลขของไม่โครชิพได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้หมายเลข 3 ตัวแรกเป็นรหัสของบริษัทผู้ผลิตที่ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตไว้กับ ICAR (ICAR เป็นหน่วยงานกลางที่ควบคุมการออกหมายเลขไมโครชิพ) ไปก่อน เพื่อไม่ให้หมายเลขของไมโครชิพออกมาซ้ำกัน ในปัจจุบันรหัสเริ่มต้นของเพ็ทแทรคไทย คือ 933.XXXXXXXXXXXX

         ส่วนหมายเลขอีก 12 หลักที่เหลือ จะเป็นเลขที่ถูกกำหนดขึ้นและเรียงตามกัน เพื่อไม่ให้ซ้ำ นั่นคือความหมายของไมโครชิพระบบ ISO ในอนาคตประเทศไทย คงใช้ไมโครชิพระบบ ISO ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไมโครชิพระบบ ISO เป็นระบบสากลที่สามารถอ่านได้ทุกที่ ดังนั้นการนำสุนัขเข้ามาจากประเทศอื่นๆ เราก็สามารถอ่านได้และรู้ว่าสุนัขมาจากประเทศไหน